วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นกสวยงานในไทย

"นกสวย"ที่สวนหลวง ร.๙ และ"โอเอซิส"กลางกรุง



มัยที่แปลงกายมาเป็นสามัญชนคนดูนกใหม่ ๆ นั้น ผมแวะเวียนไปเยี่ยมเยือน สวนหลวง ร. ๙ อยู่เป็นเนื่องนิตย์ ไม่ใช่ว่าต้องการหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมรอบกาย หรืออณูชีวิตเรียกร้องอยากมีความสงบเป็นของตนเองอะไรหรอกครับ แต่สวนสวยแห่งนี้ซึ่งมี นกน้อยนานาพันธุ์อาศัยอยู่มากมายหลายชนิด เป็นสถานที่ฝึกซ้อมการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่นั่นเอง
       ก่อนเข้าไปฝึกดูนกที่สวนหลวง ก็ต้องหอบหิ้วกาแฟสดติดตัวเข้าไปด้วยตามประสา คอเอสเพรสโซ กระติ๊กน้ำร้อนแบบพกพานั่นแหละครับเหมาะที่สุดในการบรรจุน้ำกาแฟดำร้อนๆ เดินดูนกสวยๆ ไปพลาง จิบกาแฟอร่อยๆไปพลาง ช่างอิ่มเอิบจริง ๆ
      ...เป็นความสุขเล็ก ๆ ที่หาได้ไม่ยากเย็นนักของคนเมืองที่ไม่ชอบอยู่ในเมืองแต่ชอบชีวิตตามป่่าเขาลำเนาไพรมากกว่า
นกกระจิบหญ้าสีเรียบ (Plain Prinia)
นกกางเขนบ้าน (Oriental Magpie Robin)
     จำได้ว่าเมื่อก่อนนี้ แหล่งดูนกในกรุงเทพมหานครนั้น มีไม่มากนัก หลัก ๆ ก็คงหนีไม่พ้น "สวนลุมพินี" แต่ขณะนี้สวนสาธารณะได้เพิ่มจำนวนขึ้นในเมืองหลวงของประเทศ ที่ต้อนรับการไปเยือนของบรรดานักดูนกเป็นประจำในระยะหลังๆ ก็ได้แก่ "สวนรถไฟ" และ "สวนหลวง ร.๙"
     ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน จำได้สนิทตาสนิทใจว่า ประชาชนคนไทยแห่แหนกันไปการเปิดตัวสวนหลวง ร. ๙ เมื่อเดือนธันวาคม 2530 จนรถติดเหยียดยาวเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตรตั้งแต่ปากทางเข้าสวนหลวงไปจนถึงถนนในซอยอุดมสุข
     ผมไม่เห็นถอยหลังออกมาแม้แต่คนเดียว แม้กินเวลาเนิ่นนานกว่าจะถึงสถานที่เป้าหมาย เพราะทุกคนต่างปรารถนาใครไปชื่นชมความงามของ สวนหลวง ร.๙ สวนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นกพญาไฟเล็ก (Small Minivet)
นกขมิ้นท้ายทอยดำ (Black-naped Oriole)
นกเปล้าคอสีม่วง (Pink-necked Pigeon)
นกตีทอง (Coppersmith Barbet)
ข้อมูลสวนหลวง ร.๙ จากวิกิพีเดีย
      สวนหลวง ร.๙ เป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ อยู่ในแขวงหนองบอน เขตประเวศ ทางตะวันออกของกรุงเทพมหานคร จัดสร้างเพื่อสร้างเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในศุภมงคลสมัยเจริญพระชนมพรรษาครบรอบ 60 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ปัจจุบันมี หม่อมหลวงชนะพันธุ์ กฤดากร เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสวนหลวง ร.๙
      สวนหลวง ร.๙ จัดสร้างขึ้นเนื่องจาก แนวคิดที่จะสร้างสวนน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2525 โดยท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคเป็นผู้นำ ร่วมกับแนวคิดของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการพื้นที่รับน้ำ และปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีความต่อเนื่อง มีที่พักน้ำท่วมขังก่อนถ่ายเทออกแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2523
     ได้มีการจัดตั้ง มูลนิธิสวนหลวง และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ชื่อสวนสาธารณะแห่งใหม่นี้ว่า "สวนหลวง ร.๙" มีการระดมทุนจัดซื้อที่ดิน เชิญชวนให้ประชาชนซื้อดินหน่วยละ 1 ตารางวา สร้างสวน กระจายพื้นที่ 500 ไร่ ออกเป็น 800,000 ตารางเมตร ตารางเมตรละ 500 บาท ต่อมาได้ใช้พื้นที่ของกรุงเทพมหานคร แลกเปลี่ยนที่ดินเพิ่มเติมกับเอกชนในบริเวณใกล้เคียง

นกกินปลีอกเหลือง (Olive-backed Sunbird)

นกขมิ้นน้อยธรรมดา (Common Iora)
นกคัคคูมรกต (Asian Emerald Cuckoo)
     พูดถึงนกที่พบในสวนหลวง ร. ๙ จากการสำรวจพบกว่า 150 ชนิดทีเดียว มีทั้ง นกประจำถิ่น ที่ทำรังวางไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อน อยู่ในสวนหลวง และบริเวณใกล้เคียง และ นกต่างถิ่น ที่เมื่อถึงฤดูอพยพราวช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม จะเดินทางหนีอากาศหนาวทางตอนเหนือของเอเชีย เคลื่อนขบวนลงมาทางใต้ เพื่อแสวงหาอากาศที่อบอุ่นและแหล่งอาหารที่สมบูรณ์
     บางส่วนอพยพมายังพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองไทย หาอาหารอยู่ 3-4 เดือนก่อนบินอพยพกลับถิ่นฐานเดิม
     บางส่วนอพยพผ่านเมืองไทยลงไปทางใต้ ก่อนไปจอดป้ายแถวๆ อินโดนีเซียหรือออสเตรเลีย
     สำหรับนกอพยพผ่าน เนื่องจากต้องบินฝ่าอากาศในระยะทางไกลมาก นกจึงมักแวะ พักเหนื่อย ตามจุดที่สามารถหาอาหารกินได้ เช่น ป่าชายเลน หรือป่าชนิดต่าง ๆ เพื่อ เติมพลัง สำหรับกระพือปีกบินต่อ บางตัวที่บินผ่านเมืองใหญ่ ก็แสวงหาเพื่อพื้นที่เขียว เช่น สวนสาธารณะ และสวนผลไม้ เพื่อหาอาหารและหลบภัย
     ในสวนหลวง ร.๙ จึงมักพบ "นกหายาก" มาหลบพักเหนื่อยในเขตชุมชนเป็นประจำ ไม่นับนกที่มีสถานะพบบ่อยและพบไม่บ่อย ที่เห็นเป็นประจำในช่วงฤดูอพยพและนกประจำถิ่นที่พบได้ตลอดทั้งปี

นกจับแมลงสีฟ้า (Verditer Flycatcher)
นกจับแมลงสีฟ้าท้องขาว (Blue-and-white Flycatcher)
นกจับแมลงตะโพกเหลือง (Yellow-rumped Flycatcher)
นกจับแมลงคิ้วเหลือง (Narcissus Flycatcher)
     สวนสาธารณะกลางเมือง นอกเหนือจากเป็น "ปอด" ให้คนเมืองและเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังถือเป็น"โอเอซิสกลางกรุง" ของบรรดานกอพยพที่มาแวะเติมพลังแล้ว และยังเป็นแหล่งอาศัยถาวร เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของนกถิ่นไทยในเขตมหานคร หรือเราจะเรียกว่า "นกในเมือง" ก็คงไม่ผิดนัก
     ในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไป จะพบเห็นนักดูนกมาด้อมๆ มองๆ หานกอยู่ทั่วไปตามอาณาบริเวณของสวนหลวง ร.๙ บ้างก็เดินแบกกล้องตัวใหญ่ บ้าง บ้างเดินถือไบน็อคหรือกล้องสองตา ด้วยความถี่ของคลื่นดูนก ทำให้ที่สวนหลวง มักมีรายงานการพบ นกหายากถึงยากมาก เป็นประจำทุกปี
     ล่าสุด ก็เห็นจะเป็นนกเด็ดอย่าง นกจับแมลงคิ้วเหลือง (Narcissus Flycatcher) และ นกจับแมลงหลังเขียว (Green-backed Flycatcher) นั่นแหละ ก่อนหน้านี้ ก็มี นกแซวสวรรค์หางดำ (Japanese Paradise-flycatcher)

     จุดที่นกอพยพมาหลบพักเหนื่อยในสวนหลวงกันบ่อยๆ  ก็คงไม่พ้นไปจากบริเวณ สวนรมณีย์ เนื่องจากมีการจัดแต่งสวนเลียนแบบธรรมชาติ มีน้ำตก ลำธาร ต้นไม้ขึ้นรกครึ้ม ทำให้หาลูกไม้ หรือนอนแมลงกินได้ไม่ยาก ทั้งยังสามารถหลบหูตาสัตว์นักล่าได้อีกด้วย
     เมื่อความเจริญเข้ารุกรานธรรมชาติ แหล่งอาศัยของนกจึงหดหายไป มีนกจำนวนไม่น้อยที่สามารถปรับตัวให้อาศัยอยู่รอดได้ตามการเปลี่ยนแปลงของชุนชนเมืองต่าง ๆ
     การเพิ่มจำนวนสวนสาธารณะ ปลูกพรรณไม้ที่เป็นแหล่งอาหารของนก จึงไม่เป็นเพียงการเติมพื้นที่อ๊อกซิเจนให้แก่ "คนในเมือง" เท่านั้น แต่ยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับการดำรงอยู่ของ"นกในเมือง" ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น